วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

Credits VS Wealth

“Wealthy & Healthy” (2) หนี้เป็นศัตรูกับความมั่งคั่ง

วันนี้เริ่มเข้าสู่บทเรียน แรกเลยครับ คือจุดเริ่มต้นของความมั่งคั่ง คือการเข้าใจคำว่า “รายรับ” และ “รายจ่าย” คำสองคำนี้มีความลึกซึ้งในตัวมันเองครับ เป็นการบอกถึงทิศทางของกระแสเงินครับ “รายรับ”เป็นอันเข้าใจว่าเป็นการไหลเข้าของกระแสเงิน “รายจ่าย” เป็นสิ่งตรงกันข้าม ถ้ารายรับ เท่ากับรายจ่าย มองเผินๆไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แสดงว่าอัตราการไหลเข้าและออกของเงินมันเท่ากัน รับมาจ่ายออกไป ถ้าเริ่มต้นทุกคนทำได้อย่างนี้รับรองว่าเก่ง ที่ผมเรียกว่า “หมุนเงินเก่ง” แต่ถ้าจะทำไปตลอดชีวิตเหนื่อยตายครับ ถ้ามีการเปลี่ยนความเร็วของการรับและจ่ายอะไรจะเกิดขึ้น? ถ้าความเร็วของรายรับเกิดขึ้นเร็วกว่ารายจ่ายที่ต้องจ่าย มันจะมีเงินคงเหลืออยู่ตกค้างอยู่ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของความมั่งคั่งครับ สังเกตุซิครับ ว่า อาแปะ อาหมวยที่ค้าขายของในตลาด มักจะจ่ายเช็คล่วงหน้า 30 วัน 45 วัน ให้กับพนักงานขายส่งสินค้าของบริษัท เพราะอาแปะต้องการมีเวลาเอาของไปขายก่อน แล้วเอาเงินมานอนตุนไว้ในกำปั่น อาแปะจ่ายเช็คตั้งหลายใบ แน่นอนว่ามีเงินในกำปั่นเยอะ เป็นของเจ้าหนี้การค้า กำไรไม่ได้จัดสรร เงินทุนของแปะ เงินเดือนของไอ้ตี๋ ทุกอย่างอาแปะยืมมาใช้ก่อนแล้วจ่ายไปที่หลัง แล้วทำไมหลายคนใช้วิธีการอย่างอาแปะแต่ยิ่งทำยิ่งล่มจม เช่นไอ้ตี๋ ไปแปะโป้งร้านเหล้า บุหรี่ สบู่ยาสีฟัน มาใช้ก่อนพอเงินออกก็ไปจ่ายที่หลัง ก็ทำเหมือนกันไม่ยักจะมีเงินเหลือในกระเป๋าเลย สรุปกลยุทธ์แรกง่ายๆ เลือกที่จะมีรายได้ก่อน ที่จะจ่ายเสมอ ทำงานให้ได้เงินก่อน ไม่ใช่ไปเที่ยวจ่ายเงิน แล้วหารายได้มาใช้คืน

Econ idea

ฉบับที่แล้วผมค้างเรื่องประกันราคาสินค้าทางการเกษตร  เพราะระดับราคาที่ซื้อขายในตลาดมันต่ำมาก จนเกษตรกรไม่สามารถอยู่ได้ การประกันราคาเท่ากับเป็นการยกราคาให้สูงกว่าราคาดุลยภาพของตลาดครับ การที่รัฐพยายามจะยกราคาให้สูงขึ้นกว่าธรรมชาติของมัน เท่ากับเป็นการแทรกแซงกลไกราคา เมื่อยกราคาสูงขึ้น กลไกอุปสงค์และอุปทานจะทำงานโต้ตอบทันควัน กล่าวคือ ผลของราคาที่ขยับสูงขึ้น ปริมาณความต้องการขายสินค้า(อุปทาน)จะเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณความต้องการซื้อสินค้า(อุปสงค์)จะลดลงกว่าเดิม ส่วนต่างของอุปทานที่มากกว่าอุปสงค์ที่ดูดซับได้ ที่เราเรียกว่าผลผลิตส่วนเกิน (อุปทานส่วนเกิน) จะจัดการอย่างไร ถ้าปล่อยให้มีอุปทานส่วนเกินเกิดขึ้น ตัวนี้แหละจะเป็นตัวดึงให้ระดับราคาประกันลดลงมาสู่ราคาเดิม นโยบายก็จะล้มเหลว นักเศรษฐศาสตร์รู้อยู่แล้วถ้าอ้าปากออกมาว่าจะมีการประกันราคาจะต้องเกิด อุปทานส่วนเกิน แนวทางแรก ถ้าขนาดอุปทานส่วนเกินมีจำนวนน้อย รัฐก็จะรับซื้อสินค้านั้นๆ ไปแล้วหาทางเอาไปขายต่อไป แนวทางสองถ้าขนาดของอุปทานส่วนเกินที่เกิดขึ้นมีมากมาย รัฐคงไม่เลือกรับซื้ออุปทานส่วนเกิน รัฐต้องหันไปชดเชยส่วนต่างของราคาประกันและราคาดุลยภาพ ให้กับเกษตรกร  พูดไปดูเหมือนง่ายๆ แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิดครับ แนวทางแรก เมื่อรัฐเลือกจะรับซื้ออุปทานส่วนเกิน รัฐต้องตั้งโต๊ะซื้อแข่งกับเอกชน (เช่นโรงสี) พร้อมบังคับใช้กฏหมาย ห้ามรับซื้อต่ำกว่าราคาประกัน แต่คงไม่สามารถบีบคับเอกชน ถ้าเอกชนบอกว่าไม่ซื้อ ผลผลิตทั้งหมดทั้งปวงในตลาดจะตกเป็นภาระของรัฐ นี่แหละปัญหาใหญ่ สำหรับแนวทางสอง รัฐปล่อยมีการซื้อขาย ณ ราคาตามกลไกของตลาด แต่จ่ายชดเชยส่วนต่างของราคาให้เกษตรกร ปัญหาที่ตามมาก็คือให้รัฐมนตรีไปนอนเฝ้าตาชั่งทั่วประเทศที่มีการซื้อขาย เพื่อไม่ให้เกษตรกรและโรงสี แจ้งตัวเลขเกินกว่าที่ซื้อขายจริงเพื่อขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาล  จะเห็นว่าการเลือกทางใดทางหนึ่งมีต้นทุนทางเลือกเกิดขึ้นเสมอในทางเศรษฐศาสตร์ และการแก้ปัญหานี้เป็นการแก้ที่ปลายเหตุที่ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว 

ไม่มีความคิดเห็น: